เมื่อลูกโกหกจะทำอย่างไร

ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอยู่เสมอ เพื่อลูกจะมั่นใจในความรัก และความหวังดีของพ่อแม่ เพื่อเวลาที่ลูกทำผิด หรือ ทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าปรึกษาพ่อแม่ ซึ่งจะช่วยไม่ให้ลูกตัดสินใจผิดพลาดจนเกิดผลเสียร้ายแรงตามมา
ไม่ควรมีอารมณ์โมโห หรือตำหนิตัวตนของลูกเมื่อทำความผิด แต่ควรจัดการเฉพาะพฤติกรรมที่ผิดเท่านั้น ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพื่อลูกจะกล้ายอมรับความจริงในสิ่งที่ตนทำ ควรชื่นชมที่ลูกกล้าสารภาพผิดและแนะนำว่าเขาควรทำอย่างไรต่อไป เพราะการที่ลูกถูกตำหนิและตราหน้าอยู่เรื่อยๆว่าเป็นเด็กไม่ดี จะทำลายความรู้สึกดีที่ลูกมีต่อตนเอง ยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมชอบโกหก และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจรุนแรงมากขึ้นอีก
ควรมีความไว้วางใจ ไม่จับผิดหรือระแวงลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้ง ลูกกลับบ้านดึก แม่ก็คอยซักถาม จับผิดว่าลูกไปไหน ไปทำอะไร ซึ่งบางทีลูกอาจจะแค่ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน แต่การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูกและไต่สวนเหมือนเป็นผู้กระทำความผิด เด็กก็อาจจะใช้วิธีการโกหก เพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถามหรือหลบหลีกด้วยการโกหก
ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษที่รุนแรงเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะการลงโทษเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ ยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษคือ การพูดจาเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลบางประการของลูกซึ่งพ่อแม่ต้องมีอารมณ์ ที่สงบเพื่อจะรับฟังลูกอย่างจริงใจ
เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่พูดโกหกให้ลูกเห็น เพราะลูกอาจเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย เข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้
พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความบกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษาหรือไม่ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจโกหกโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำไปเพราะพวกเขาป่วย หากสงสัยว่าลูกมีภาวะดังกล่าวควรพามาพบจิตแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม